ความหมายของคำว่า "แพะ"
แพะ เป็นชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิด Capra hircus ในวงศ์ Bovidae เป็นสัตว์กีบคู่ขนาดกลาง มีความอดทนแข็งแรงและทนทานต่อโรคได้ดีกว่าสัตว์กีบคู่ชนิดอื่นๆ สามารถปีนป่ายที่สูงโดยเฉพาะโขดหินหรือภูเขาได้ดี ขนหยาบสีดำ ขาว หรือน้ำตาล มีเขา 1 คู่ ตัวผู้มีเครา หางสั้น
แพะ เป็นชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์เชษฐา มี 14 ดวง ดาวงาช้าง ดาวช้างใหญ่ ดาวคอนาค หรือดาวเชษฐา
แพะรับบาป เป็นสำนวนหมายถึงคนที่รับเคราะห์กรรมแทนผู้อื่นที่ทำกรรมนั้น
แพะโลม เป็นคำกิริยาที่มีความหมายว่า พูดเกี้ยว พูดเลียบเคียงทางชู้สาว แพละโลม หรือแทะโลม ก็มีความหมายเดียวกัน(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525,608)
แพะ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า GOAT นอกจากจะแปลว่า แพะ แล้วยังแปลว่า คนชั่ว ผู้รับบาป ได้อีกด้วย
รู้จักแพะให้ดีขึ้น
แพะ เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องเลี้ยงลูกด้วยนม ชอบอาศัยอยู่ในที่สูงชัน มันวิ่งขึ้นลงได้อย่างคล่องแคล่วและมั่นคง
ปกติแล้วแพะตัวผู้จะอยู่แยกกับตัวเมีย ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์
ตามหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่า มีการเลี้ยงแพะมา 9,000 ปีแล้ว ต้นตระกูลของแพะบ้านอยู่บริเวณปากีสถานไปจนถึงเกาะครีต
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่นำแพะป่าไปเลี้ยงเป็นแพะบ้าน เป็นสัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไปในประเทศต่างๆ
แทบทั่วโลก เนื่องจากเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารน้อยมากเมื่อเทียบกับสุกรหรือไก่
อาหารส่วนใหญ่ของแพะคือใบไม้และหญ้า การซื้อแพะมาเลี้ยงก็ราคาไม่แพง การสร้างโรงเรือนก็สิ้นค่าใช้จ่ายน้อย
การดูแลเอาใจใส่ก็ไม่เปลืองเวลา เด็กๆ ก็สามารถทำได้ดี ครอบครัวหนึ่งถ้าเลี้ยงแพะนมไว้
2-3 ตัวจะมีนมสดบริโภคตลอดปี นมแพะที่เหลือจากการบริโภคอาจจำหน่ายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียง
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่นำแพะไปเลี้ยง มีทั้งที่เลี้ยงเพื่อนำขนไปทำเสื้อกันหนาว
แพะประเภทนี้มักเลี้ยงในที่ราบสูงเพราะมีอากาศหนาว แพะจึงปรับตัวสร้างขนขาวหนาปกคลุมเพื่อให้ตัวมันอบอุ่น
คนเลี้ยงจะตัดขนมาทำเสื้อกันหนาวสวมใส่กันทั่วไปในเขตหนาว แต่บางกลุ่มก็เลี้ยงเพื่อกินเนื้อหรือนม
ซึ่งนิยมกันมากในกลุ่มชาวมุสลิม
ลักษณะของแพะ
ลำตัวของแพะรวมทั้งศีรษะ มีความยาว 4 ฟุต 6 นิ้ว หางยาว 6 นิ้ว ความสูงแค่ไหล่ 3 ฟุต น้ำหนักประมาณ 230 ปอนด์ ตัวผู้โตกว่าตัวเมียเล็กน้อย เขาของตัวผู้แผ่กว้างออก และมีลักษณะโค้งเหมือนดาบ อาจยาวถึง 52 นิ้ว โค้งไปข้างหลังแล้วเหยียดออกข้างๆ ตามขอบด้านหน้าของเขาเป็นปุ่มขรุขระ เขาของตัวเมียสั้นกว่าและเรียวแหลมกว่า โดยทั่วไปขนตามลำตัวของแพะในยุโรปจะเป็นสีน้ำตาลปนแดงเรื่อในฤดูร้อน และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเทาในฤดูหนาว และมีลายสีดำเป็นแห่งๆ ตามลำตัวและขา
ลักษณะเด่นของแพะ
แพะมีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขาของแพะจะงอโค้งไปข้างหลัง แพะตัวผู้มีเครายาวที่คางและมีกลิ่นตัวแรงฉุนเฉียว หน้าผากของแพะจะนูนโค้งออกมาแตกต่างจาก "แกะ" คือ เขาของแกะงอกออกไปทางด้านข้างของศีรษะและมีเขาเฉพาะตัวผู้ และหน้าผากของ แกะค่อนข้างลาดแอ่นลึก
พันธุ์แพะ
แพะเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดแรกๆ ของมนุษย์ เช่น เดียวกับแกะ ประมาณกันว่ามนุษย์มีการเลี้ยงแพะในช่วงระหว่าง 6,000-7,000 ปีก่อนคริสตศักราช ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดเหมือนกับแกะว่า แพะมีบรรพบุรุษมาจากอะไรกันแน่ แต่แพะสมัยใหม่ (Modern goats) ส่วนใหญ่สืบสายมาจากแพะบีซอร์ (Bezoar goat) ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาเอเซียน้อย (Mountains of Asia Minor) ข้ามไปยังเอเซียกลางจนถึงซินด์ (Sind) แพะต่างจากแกะตรงที่สามารถกลับไปเป็นสัตว์ป่าได้อีกถ้านำมาเลี้ยงแล้วปล่อยกลับเข้าป่า เรียกว่า feral goat ในความเป็นจริงแล้วสัตว์ที่นำมาเลี้ยงแล้วจะสามารถกลับไปเป็นสัตว์ป่าได้อีกอย่างรวดเร็วมีเพียงชนิดเดียว คือ แมวเลี้ยง (domestic cat) อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่ามีแพะได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นแพะเลี้ยงหลายสายพันธุ์ เช่น Alpine Altai Mountain American Cashmere Anglo-Nubian Angora เป็นต้น
แพะพื้นเมืองในประเทศไทย
มีหลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น แพะที่จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแพะมาจากประเทศอินเดีย
หรือปากีสถาน มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าแพะทางใต้ ส่วนแพะทางใต้ของไทย มีขนาดเล็กเข้าใจว่ามีสายพันธุ์เดียวกับแพะพื้นเมืองทางใต้มีความสูงประมาณ
50 ซม. มีน้ำหนักประมาณ 20-25 ก.ก. ให้ผลผลิตทั้งนมและเนื้อต่ำ
แพะพันธุ์ต่างประเทศ ได้แก่
แพะพันธุ์ชาแนน เป็นแพะนมมีขนาดใหญ่ได้ผลผลิตนมสูงกว่าแพะอื่นๆ มีขนสั้น ดั้งจมูกและใบหน้ามีลักษณะตรงใบหูเล็กและตั้งชี้ไปข้างหน้า
ปกติจะไม่มีเขาทั้งในเพศผู้และเมีย
แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน มีขนาดใหญ่น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 75 ก.ก. ดั้งจมูกโด่งและงุ้ม
ใบหูยาวและปรกลงมา ปกติแพะพันธุ์นี้ไม่มีเขา ถ้ามีก็จะสั้นและเอนแนบติดกับหนังหัว
ขนสั้นละเอียดเป็นมัน มีขายาวทำให้เต้านมสูงกว่าระดับพื้นมาก จึงง่ายต่อการรีดนม
มีหลายสี เช่น ดำ เทา ครีม น้ำตาล น้ำตาลแดง อาจมีจุดหรือด่างขนาดต่างๆ ผลผลิตน้ำนมประมาณ
1.5 ลิตรต่อวัน ระยะเวลาให้นมประมาณ 165 วัน
แพะ : สัตว์ที่คนไทยไม่นิยมเลี้ยง
แพะเป็นสัตว์ที่คนไทยไม่คุ้นเคยนัก หากสัญญลักษณ์ของ ปีมะแม ไม่ใช่แพะ ช่องว่างระหว่างคนไทยกับแพะคงมีมากกว่านี้แต่ไหนแต่ไรมาคนไทยไม่นิยมเลี้ยงแพะ ด้วยรังเกียจว่าแพะมีกลิ่นสาป คนไทยไม่ดื่มนมแพะซึ่งให้ความอบอุ่นสูง แต่สำหรับชาวมุสลิมแล้วแพะจะเป็นสัตว์ที่คุ้นเคยมากที่สุด ชาวไทยมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เลี้ยงแพะกันเกือบทุกบ้าน ตามสถิติจำนวนแพะมีเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนประชากรมนุษย์ด้วยซ้ำไป แพะจึงมีความสัมพันธ์กับชาวมุสลิมนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย แพะเข้ามาเกี่ยวข้องในเชิงพิธีกรรมที่สำคัญของศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลามได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าแพะเป็นสัตว์ที่มีไว้เชือดเพื่อการทำบุญทำทาน แพะจึงเป็นหนึ่งในจำนวนสัตว์ไม่กี่ชนิด เช่น อูฐ แกะกรีพัช (สัตว์ในประเทศซาอุดิอาระเบีย มีหน้าตาคล้ายแกะและแพะ) ที่ชาวมุสลิมมีไว้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับแพะ
แพะเหม็นสาบ
กลิ่นสาบแพะมาจากต่อมกลิ่นที่โคนหาง ซึ่งแผ่กลิ่นสาบกำจายไปทั่วตัวแพะ ทำให้คนส่วนใหญ่รังเกียจแพะ
แต่กลิ่นแพะเป็นกลิ่นที่ผู้คุ้นเคยกับแพะจะชินจมูก หากจับแพะอาบน้ำก่อนรีดนมจะช่วยลดกลิ่นสาบในน้ำนมแพะ
และหากตัดต่อมกลิ่นของแพะทิ้งตั้งแต่เล็กๆ จะช่วยลดกลิ่นสาบของแพะได้
แพะกินทุกอย่างที่ขวางหน้า
แพะได้เปรียบสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่นตรงที่มันสามารถกินได้ทั้งใบหญ้า และใบไม้ได้มากชนิด ประกอบกับแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดเดียวที่สามารถยืนสองขาเพื่อยืดตัวหาใบไม้บนต้นไม้กิน ภาพแพะกำลังยืนสองขาเพื่อโน้มกิ่งไม้ลงมากินเป็นภาพที่พบเห็นได้เป็นประจำ นอกจากนั้นแพะยังมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น ชอบลองกินอาหารชนิดใหม่ๆ ชอบสรรหาใบไม้ชนิดใหม่ๆ หรืออาหารแปลกๆ กิน บางครั้งพบว่ามันกินกระดาษ ผ้าหรือกลืนเศษตะปูลงท้องได้ด้วยนิสัยอยากรู้อยากลอง และถ้ามันอดอยากหรือหิวจริงๆ เสื้อผ้าที่คนเลี้ยงสวมใส่มันก็กินมาแล้ว ความที่มีนิสัยช่างชิมทำให้มันกลืนตะปูหรือเศษพลาสติกจนตัวตาย
แพะมักขี้โมโห
ตามปกติแพะไม่ใช่สัตว์ก้าวร้าว แต่แพะตัวผู้ที่กำลังคึกอยากผสมพันธุ์จะมีนิสัยดุดันและโมโหง่าย
แพะผู้ไถ่บาป : คนมุสลิมเชือดแพะเพื่อไถ่บาป
ในกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามทุกคนจะต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ใครได้ไปแล้วถือว่าได้กุศลอย่างมาก ด้วยเหตุที่เป็นการประกอบพิธีทางศาสนาอันสำคัญจึงมีข้อห้ามและระเบียบปฏิบัติมากมายหลายข้อด้วยกัน แต่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์อาจหละหลวมละเลยระเบียบข้อห้ามบางอย่าง จึงมีข้อปฏิบัติที่เปิดช่องไว้ว่าสามารถเชือดแพะเพื่อไถ่บาปได้
คนมุสลิมเชือดแพะเมื่อได้บุตร
ตามความเชื่อของชาวมุสลิม การกินเนื้อแพะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความสมหวัง ฉะนั้นการได้บุตรเสมือนกับความสมหวัง
เป็นของกำนัลที่พระเจ้าทรงมอบให้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการเฉลิมฉลองด้วยการล้มแพะเพื่อหุงต้มทำแกงตามธรรมเนียม
พระคัมภีร์อัล-กุร.อานได้กำหนดไว้ว่าในโอกาสที่มีทารกเกิดใหม่ในครอบครัว ควรทำพิธีเชือดแพะ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสักการะแด่พระเจ้าด้วยความรัก ความศรัทธา และขอบคุณที่พระองค์ทรงส่งผู้สืบสกุลมาให้
หากอยู่ในที่ที่ไม่สามารถหาแพะเพื่อทำพิธีนี้ได้อาจอนุโลมให้ใช้ แกะ หรือ กีบัช
(ในซาอุดิอาระเบีย) แทนแพะได้ หรือถ้าครอบครัวนั้นยากจน ไม่มีเงินพอที่จะซื้อสัตว์มาทำพิธีได้ท่านก็ให้ถือศีลอดแทนเป็นระยะเวลา
3 วัน
สำหรับเนื้อแพะที่เชือดแล้วให้นำมาปรุงอาหารเลี้ยงมุสลิมเพื่อนบ้านที่เชิญมาร่วมพิธีเพื่อเป็นทาน
ในรายละเอียดของพิธีกรรมระบุว่าถ้าทารกเป็นชายให้เชือดแพะ 2 ตัว ถ้าเป็นหญิงเชือดเพียงตัวเดียว
ในกรณีที่มีลูกแฝดให้ทวีคูณไปตามหลักการดังกล่าว สำหรับในกรณีที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคน
และมีบุตรพร้อมกันก็ให้ถือสิทธิ์โดยเท่าเทียมกัน
เชือดแพะเพื่อไถ่บาป
การประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะถือเป็นระเบียบปฏิบัติที่สำคัญมุสลิมทุกคนต้องไปละหมาดเพื่อพระเจ้า ณ ที่ตั้งหินกะบาท์หรือหินดำอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์มีข้อห้ามถือเป็น ระเบียบปฏิบัติ เพื่อการครองตนให้บริสุทธิ์หลายอย่างเช่นห้ามสัมผัสหรือแตะเพศตรงข้ามด้วยความกำหนัด ห้ามร่วมประเวณี ห้ามประพรมน้ำหอม เป็นต้น หากเกิดกรณีดังกล่าวต้องเสียค่าปรับด้วยการเชือดสัตว์เพื่อแจกเป็นทาน ที่เมืองเมกกะนั้น สัตว์ที่ใช้เชือดเพื่อไถ่บาปมีทั้งอูฐ วัว แพะ อูฐให้เชือดเพียง 1 ตัว วัวให้เชือด 2 ตัว ถ้าเป็นแพะให้เชือดถึง 7 ตัว
เชือดแพะเพื่อแสดงความศรัทธาต่อพระเจ้า
ตามความเชื่อความศรัทธาของคนมุสลิม การเชือดสัตว์ที่เรียกว่า "กุรบ่าน" ทำไปเพื่อคารวะพระเจ้าด้วยความรักและศรัทธาต่อพระองค์ "แพะ" คือหนึ่งในสัตว์ที่นำมาเชือดเพื่อพิธีกรรมนี้ และต้องเป็นแพะที่อยู่ในวัยเจริญเติบโตเต็มที่ คืออายุอย่างน้อย 2 ปี ที่สำคัญต้องเป็นสัตว์ที่มีลักษณะถูกต้องตามที่ศาสนาบัญญัติไว้ คือมีพลานามัยสมบูรณ์ รูปพรรณสัณฐานไม่มีตำหนิ เช่น หูแหว่ง ตาบอด ขาหัก เขาหัก เป็นต้น สัตว์ที่มีตำหนิท่านห้ามไว้ว่ามิควรนำมาเชือดเพื่อพิธีกรรมนี้โดยเด็ดขาด พิธีกรรมดังกล่าวนี้ศาสนามิได้บังคับ หากแต่ผู้ใดได้กระทำ ผลดีและสิริมงคลจะบังเกิดแก่ผู้นั้น พิธีเชือดแพะเพื่อความศรัทธามักกระทำกันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นของวันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันเฉลิมฉลองวันสิ้นสุดการถือศีลอด หรือนับจากวันนี้ไปอีกไม่เกิน 3 วัน เนื้อที่ชำแหละมาได้นอกจากจะแจกจ่ายกันไปในหมู่ญาติพี่น้องแล้วยังแจกเป็นทานแก่ผู้ยากจน
"แพะ" สัตว์สังเวยเทพปกรณัมกรีกโบราณ
แบะ แบะ แบะ เสียงแพะร้องเหมือนเสียงร้องของทารกจึงทำให้แพะต้องเป็นสัตว์สังเวย ของ ไดโอนีซัส หรือ แคดัส เทพปกรณัมของกรีกโบราณ ชอบดื่มเหล้าไวน์เป็นนิตย์ หลังการดื่มมักมึนเมาและลงเอยด้วยการหาทารกมาฉีกเนื้อเล่น และเมื่อใดก็ตามที่ไม่สามารถหาทารกมาสังเวยได้ ก็จะใช้แพะแทนเพราะแพะมีเสียงร้อง แบะ แบะ แบะ เหมือนเสียงทารก