พลิกตำนาน 'นายฮ้อย' นักเลงโตแห่งทุ่งกุลาฯเรื่องควาย


นายฮ้อย คือเรื่องราวของกลุ่มพ่อค้า ที่มีบทบาทอย่างยิ่ง ในท้องถิ่นภาคอีสาน โดยเฉพาะนายฮ้อยวัว-ควาย นับเป็นตำนานอีกบทหนึ่ง ที่ไม่ได้มีเฉพาะบทบู๊ หากแต่เต็มไปด้วย การสะสมองค์ความรู้ และภูมิปัญญา เกี่ยวกับวัวควาย และการค้าขาย เบญจวรรณ วงศ์คำ เสนอเรื่องราวของนายฮ้อย ท่ามกลางกระแส การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน


เมื่อเอ่ยคำว่า 'นายฮ้อย' หลายคนคงมีภาพ 'นายฮ้อยเคน' ในละครเรื่องดัง 'นายฮ้อยทมิฬ' ชายชาตินักเลงที่เป็นหัวหน้าขบวนต้อนวัว-ควายฝูงใหญ่ไปขายยังต่างถิ่น ต้องพบเจออุปสรรคต่างๆ ระหว่างทางมากมาย ซึ่งภาพในชีวิตจริงของพ่อค้าวัว-ควาย ภาคอีสานสมัยก่อนมีวิถีชีวิตไม่ต่างกันนัก เพียงแต่ในละครอาจมีการสอดแทรกเรื่องราวสีสันเพื่อเพิ่มความสนุกสนานตื่นเต้นเพื่อชวนให้ติดตามมากกว่าบ้างเท่านั้น

ตำนานของคนและสัตว์

อันที่จริงคำว่า 'นายฮ้อย' เป็นภาษาท้องถิ่นภาคอีสานที่เรียกกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทในการค้าขาย และมักเรียกตามชื่อประเภทสินค้า ดังนั้นกลุ่มคนที่ค้าขายวัว-ควาย จะถูกเรียกขานว่า นายฮ้อยวัว-ควาย แต่อาจเพราะนายฮ้อยวัว-ควาย มีบทบาทสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนอีสานใกล้ชิดมากกว่ากลุ่มพ่อค้าสินค้าประเภทอื่นๆ เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของชาวอีสานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ชาวบ้านมีการเลี้ยงวัว-ควาย เป็นอาชีพที่ควบคู่กันมากับการทำนา ทำไร่

วัว-ควาย จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่อชุมชน ทั้งในสถานะปัจจัยการผลิต คือแรงงานไถนา ผลิตปุ๋ยคอก เป็นพาหนะอำนวยความสะดวกในการเดินทางคมนาคมขนส่ง เป็นสิ่งแสดงถึงสถานะทางสังคม เป็น 'มูลมัง' (สมบัติ) สำหรับลูกหลานเวลาแต่งงานมีเหย้ามีเรือนแยกครอบครัวเป็นของตนเองและเป็นสินค้าที่สามารถขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

นายฮ้อยเข้ามามีบทบาทมากใน 'การซื้อ-ขาย' นี้เอง เพราะสภาพสังคมแต่เดิม การขายวัว-ขายควาย ในท้องถิ่นเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างก็เลี้ยงวัว-ควาย เหมือนๆ กัน 'ตลาดวัว-ควาย' ในขณะนั้นอยู่ในถิ่นภาคกลาง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางยาวนานรอนแรมหลายเดือน ดังนั้นการจะนำวัว-ควาย ไปขายจึงต้องอาศัยการรวมตัวเดินทางกันเป็นหมู่คณะเพื่อความปลอดภัย และจากการเดินทางในลักษณะนี้เองได้บ่มเพาะประสบการณ์ให้กับกลุ่มชาวบ้านที่นำวัว-ควาย ไปค้าขาย กลายเป็นตำนาน 'นายฮ้อย' ในเวลาต่อมา

พ่อเฒ่าสัว อาสา วัย 73 ปี อดีตนายฮ้อยแห่งบ้านหาญฮี ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า ในช่วงที่เป็นนายฮ้อยจะต้อนวัว-ควายไปค้าขายที่จังหวัดชลบุรี โดยจะออกเดินทางภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว คือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ แต่ละครั้งประมาณ 3 เดือน

ในกลุ่มนายฮ้อยจะมีการจัดลำดับของนายฮ้อย ตัวพ่อเฒ่าสัวเองเป็นนายฮ้อยที่อยู่กลุ่มของนายฮ้อยใหญ่ชื่อ 'นายฮ้อยดี นธีนาม' แต่ละครั้งจะรวมกลุ่มกันประมาณ 50 คน วัว-ควาย รวมๆ เป็นพันตัว จะมีการกำหนดจำนวนวัว-ควาย ที่แต่ละคนจะนำไป นายฮ้อยใหญ่จะนำไปได้ 20 ตัว นายฮ้อยลูกน้อง จะนำไปได้คนละ 14 ตัว

"ในช่วงนั้น นายฮ้อยเริ่มทำหน้าที่เป็นพ่อค้าแล้ว ต้องลงทุนซื้อวัว -ควายเอง ครั้งหนึ่งประมาณ 4,000-5,000 บาท ได้กำไรเที่ยวหนึ่งประมาณ 3,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าเยอะ หากจะขาดทุนก็เพราะถูกขโมยวัว-ควาย ระหว่างทางเท่านั้น อดีตนายฮ้อยสัว บอก

ความยากลำบากของการเดินทางและเพื่อให้การเดินทางแต่ละครั้งสามารถขายวัว-ควาย ได้เงินกลับมาบ้าน นายฮ้อย จึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในการดูลักษณะสัตว์ที่เป็นมงคล-อัปมงคล หรือลักษณะสัตว์ที่เลี้ยงโตเร็ว มีความรู้เทคนิคในการเลี้ยงสัตว์และการดูแลป้องกันรักษาโรคสัตว์ รวมทั้งการประเมินราคาและการต่อรองการค้าขายวัว-ควาย ด้วยบทบาทดังกล่าวคนในชุมชนจึงให้ความเชื่อถือเป็นภูมิปัญญาทางด้านนี้ของชุมชนตลอดมา

ประสงค์ ยมนัตถ์ หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษาภูมิปัญญานายฮ้อยวัว-ควาย ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค) กล่าวว่า จากการศึกษาบทบาทของนายฮ้อยวัว-ควาย ในแถบ อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด พบว่าบทบาทของนายฮ้อยมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมค่อนข้างมาก

นายฮ้อยนักเลงโต เป็นรุ่นแรก ช่วงปีพ.ศ.2475-2505 นายฮ้อยรุ่นนี้ ภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า ติดจะเป็น 'นักเลงโต' อยู่ในตัวพอสมควร สูงด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ มีประสบการณ์ในทางการค้า มีความเป็นผู้นำที่ผู้อื่นยอมรับและให้เครดิตการซื้อขายวัว-ควาย จากเจ้าของเป็นอย่างดี จะต้องคุมกองทัพวัว-ควาย ลูกน้องอีกจำนวนมากไปขายยังเมืองล่าง (ภาคกลาง) และยังเป็นผู้ที่มีเครือข่ายนายฮ้อยด้วยกันที่พึ่งกันและกันตลอด มีประเพณีการไปยามเสี่ยว (เยี่ยมเพื่อน) ที่ต้องปฏิบัติตลอดเวลากับเพื่อนเครือข่ายนายฮ้อยผู้ทำอาชีพค้าขายวัว-ควาย ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แหล่งสินค้า ที่สำคัญที่สุดรู้จักเทคนิคการค้าขายการต่อรองราคา

รุ่นต่อมาถือเป็นนายฮ้อยรุ่นกลาง อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2505-2520 เป็นยุคการเปลี่ยนแปลงการค้าขายวัว-ควาย เริ่มมีถนนหนทางการคมนาคมสะดวก จึงไม่จำเป็นต้องไล่ต้อนไปขายที่ภาคกลาง แต่มีการใช้รถบรรทุก หรือไม่ก็จะมีพ่อค้าจากภาคกลางขึ้นมาซื้อแล้วขนไปขายเอง ทำให้บทบาทนายฮ้อยวัว-ควาย จำกัดบทบาทอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก เปลี่ยนบทบาทเป็นการนำวัว-ควาย จากนอกพื้นที่เข้ามาขายในตลาดนัดวัว-ควาย และขายไปนอกพื้นที่ แต่เครือข่ายของนายฮ้อยด้วยกันเองก็ยังมีความจำเป็นและมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องอยู่

ในขบวนการค้าขายของนายฮ้อยรุ่นนี้ เมื่อมีการซื้อขายวัว-ควาย จะมีการกำหนดจุดนัดพบกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นหรือที่มาของตลาดนัดวัว-ควาย ในท้องถิ่น นายฮ้อยรุ่นนี้ก็ยังเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทั้งการดูลักษณะสัตว์ การเลี้ยงดูและรักษาโรคสัตว์ การค้าขายเน้นวัว-ควายที่นำไปใช้งานเป็นหลัก

'ความเจริญ' ผลกระทบภูมิปัญญาดั้งเดิม

แม้ว่านายฮ้อยจะสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนอีสานมาเนิ่นนาน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ภาพนายฮ้อยแบบเดิมดังนายฮ้อย 'เคน' หรือนายฮ้อยยุคแรกๆ ก็เริ่มเลือนหายไป มีภาพของนายฮ้อยรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่

นายฮ้อย…อย่าตั๋วะเพิ่นเด้อ… ถ้อยคำหยอกเหย้านี้จะได้ยินเสมอเมื่อนายฮ้อยรุ่นใหม่ หรือ นายฮ้อยเหยียบเชือกขาย ไปที่ไหนๆ หรือพูดจาในเรื่องใดๆ ภาพลักษณ์ของนายฮ้อยรุ่นนี้ คือความกะล่อน เจ้าเล่ห์ สิ่งเดียวที่พวกเขาคิดคำนึงถึง คือ 'กำไร' จากการซื้อ-ขาย วัว ควาย เป็นหลัก เพราะนายฮ้อยรุ่นนี้จะซื้อขายวัว-ควายในตลาดนัดเป็นหลัก

นายฮ้อย จำลอง สีแดง นายฮ้อยรุ่นเหยียบเชือกขาย วัย 51 ปี ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า นายฮ้อยรุ่นเขา หรือ อย่างเขา 'ขี้ตั๋วะ' (โกหก เจ้าเล่ห์) จริงๆ พร้อมกับเล่าประสบการณ์ประกอบเป็นตัวอย่างว่า

ตอนผมอายุ 16 ปี เริ่มเป็นนายฮ้อย ซื้อควายเผือก ราคา 350 บาท และก็จูงไปขายต่อ ก่อนขายก็ไปพูดจาโกหกเขาว่า โอ้โห ควายตัวนี้ไถนาเก่งมาก ผมเมื่อยเดินตามไม่ทัน ผมอยากเปลี่ยนกับควายของพ่อเฒ่า แกก็คิดว่าเราเป็นเด็กคงโกหกไม่เป็น แกก็เลยเอาเลย เราก็ขอแถมเงินจากแกอีก 50 บาทแกก็ให้มา เป็นอันว่าเราได้ควายตัวใหม่เพิ่มเงินมาอีกด้วย"

"…บางทีไปซื้อควายกับเจ้าของที่เป็นหญิง ควายเขาสมบูรณ์ดี ผมดูก็รู้ว่าขายได้เป็นหมื่น แต่จะกดราคาเขาแค่ 7,000 ก็บอกว่าควายแม่ใหญ่ขาถก (ขาเป๋ ขากระเผลก เพราะความไม่แข็งแรง) แล้วเราก็ให้ลูกชายจูงไปเราเดินตามก็แอบเตะขาควายก็เสียหลักเราก็บอกว่านี่ไง ขาถกเห็นๆ แม่ใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้ ตามไม่ทัน ก็ยอมขายให้ ก็โกหกอยู่เป็นประจำ

หากดูผิวเผิน อาจดูเหมือนว่า นายฮ้อย กับ พ่อค้า ในปัจจุบันต่างก็ทำหน้าที่เหมือนๆ กัน แล้วเหตุใดนายฮ้อยจึงยังคงมีบทบาทอยู่ในตลาดค้าขายวัวควายอีสานอยู่ได้

นายฮ้อยจำลอง กล่าวว่า พ่อค้าแค่จับวัว-ควายก็เอาไปขาย แต่นายฮ้อยรู้จักวัว-ควายทุกอย่าง ชาวบ้านที่เลี้ยงใครต้องเข้าตลาดนัดเอาวัว-ควายไปขาย ทุกคนในหมู่บ้านต้องไปหานายฮ้อย ให้นายฮ้อยดูวัว-ควายให้ว่ามันจะได้ราคาเท่าไหร่ ตรงนี้ละที่ความเป็นนายฮ้อยจะได้เปรียบในปัจจุบัน เพราะถือว่าอย่างน้อยก็มีความชำนาญรู้จักการตีราคา ชาวบ้านจะขายให้นายฮ้อย และนายฮ้อยจะไปขายให้พ่อค้าต่ออีกที